นายแพทย์พลวรรธน์ วิทูรกลชิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน สายงานเทคโนโลยี บมจ.ธนาคารกรุงไทย และประธานกรรมการ บริษัท กรุงไทยคอมพิวเตอร์เซอร์วิสเซส จำกัด (KTBCS) กล่าวว่า ขณะนี้เรื่องสำคัญที่สุด ซึ่งผลักดันให้ทุกองค์กรต้องเร่ง Digital Transformation คือ การระบาดของไวรัส Covid-19 ที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหลายแง่มุม ทั้งพฤติกรรมการทำงาน วิถีชีวิตใหม่แบบ New Normal โดยธนาคารกรุงไทยมุ่งเน้นการทำ Digital Transformation อย่างจริงจังเพราะถือเป็นเรื่องสำคัญ นอกจากนี้ ธนาคารยังมีการใช้นโยบาย Dual Speed ที่มี 2 แนวทางควบคู่กันคือ “เรือบรรทุกเครื่องบิน (Carrier) และ เรือเร็ว (Speed Boat)” ซึ่งทั้ง 2 เป็นนโยบายหลักที่จำเป็นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีที่พร้อมเพื่อขับเคลื่อนองค์กรให้เดินหน้าตามยุทธศาสตร์
ธนาคารกรุงไทยเชื่อว่า การทำ Digital Transformation คือส่วนสำคัญในการสนับสนุนนโยบาย Dual Speed ธนาคารได้เริ่มต้นจากการปรับระเบียบโครงสร้างแอปพลิเคชั่นต่างๆ ให้มีความรวดเร็ว คู่ไปกับการปรับรูปแบบการทำงานที่มุ่งเน้นความเข้าใจ และสามารถทำควบคู่ไปกับ Digital Transformation ได้อย่างเหมาะสม
นายแพทย์พลวรรธน์กล่าวต่อว่า ความท้าทายในการทำ Digital Transformation คือส่วนของโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที ซึ่งถือเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เนื่องจากธนาคารมีระบบ Legacy Systems ที่ใหญ่มากการจะเปลี่ยนแปลงไปสู่ดิจิทัล ที่มีการใช้ Cloud เป็นหลักทำได้ยาก
“ธนาคารกรุงไทยมีโครงสร้างเดิมที่ใหญ่ ความพยายามทำ Digital Transformation ในช่วงเริ่มต้น 2-3 ปีเพื่อเปลี่ยนเป็น Cloud base นั้นทำได้ยาก จนได้ตัดสินใจมาใช้โอเพ่นซอร์สจาก Red Hat เมื่อปี 2563 และเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติใหม่ ก็ทำให้เส้นทางการทำ Digital Transformation ของธนาคารกรุงไทยเริ่มต้นได้อย่างรวดเร็วและยังราบรื่นด้วย”
ธนาคารกรุงไทยได้ปรับใช้คอนเซ็ปต์การทำงานแบบ Agile เพื่อทำให้ time to market ของแอปพลิเคชั่นดีขึ้น จากเดิมที่เคยใช้เวลากว่า 1 ปีในการพัฒนาแอปพลิเคชั่น 1 ตัว เมื่อผ่านการปรับเปลี่ยนครั้งนี้ก็เหลือเพียง 3-6 เดือนเท่านั้น ขณะที่ข้อจำกัดเรื่องบุคลากรนั้น ธนาคารกรุงไทยได้รับบุคลากรที่มีทักษะสอดรับกับการทำงานแบบใหม่เพิ่มเติม ส่วนพนักงานเก่าก็เน้นให้มีการปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อเพิ่มทักษะใหม่ๆ
นายแพทย์พลวรรธน์ เน้นว่า สิ่งที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจนมี 2 ประเด็นคือ 1. ความหลากหลาย เพราะการใช้โอเพ่นซอร์สจาก Red Hat ทำให้สามารถเข้าถึงบริการที่หลากหลายมากขึ้น เช่น ในระบบเดิมหากธนาคารกรุงไทยต้องการใช้บริการ Red Hat OpenShift จะต้องผ่านกระบวนการจัดซื้อ ซึ่งใช้เวลานาน แต่เมื่อเป็นโอเพ่นซอร์ส ธนาคารสามารถหาเวอร์ชั่นทดลองมาใช้งานก่อนได้ โดยหาจากชุมชนโอเพ่นซอร์สได้ฟรี ได้ฟังก์ชั่นที่ใกล้เคียงกัน ทำให้ธนาคารสามารถลองใช้ก่อนได้ หากผลลัพธ์ดีจึงจะขยายไปใช้เวอร์ชั่นที่เป็น Commercial
“เวลานี้ธนาคารกรุงไทยมีแอปฯ หลายตัวที่สร้างขึ้นจากโอเพ่นซอร์ส ซึ่งเราใช้วิธีนำเวอร์ชั่นทดลองจากชุมชนโอเพ่นซอร์สมาลองใช้ก่อน เมื่อมั่นใจแล้วจึงซื้อตัว Commercial มาใช้พัฒนาจริง ดังนั้น ฐานข้อมูลหลายๆ อย่างของกรุงไทยจะมาจากกระบวนการนี้ ทำให้ไม่ต้องรอกระบวนการจัดซื้อที่ล่าช้าแบบเก่า อยากได้ผลลัพธ์อะไรก็ดาวน์โหลดมาทดลอง จนทำให้ทีมงานคุ้นเคยกับการใช้โอเพ่นซอร์สอย่างมาก”
ความเปลี่ยนแปลงที่ 2 สามารถเช็กฟีดแบ็กได้ โดยธนาคารสามารถเช็กฟีดแบ็กกับชุมชนโอเพ่นซอร์สได้ว่าเวอร์ชั่นไหนที่มีประสิทธิภาพสูง เสถียร หรือแอปพลิเคชั่นไหนที่เหมาะกับการทำงาน หรืออะไรใช้ยากหรือง่าย
นายแพทย์พลวรรธน์กล่าวว่า ส่วนที่ยากที่สุดสำหรับการทำ Digital Transformation ของธนาคารกรุงไทยคือ ระบบการทำงาน เนื่องจากการทำงานรูปแบบเดิมถูกใช้งานมาเป็นเวลานานมาก บางระบบใช้มาตั้งแต่ตอนก่อตั้งธนาคาร ดังนั้น เวลาทำ Digital Transformation ก็ต้องรื้อใหม่ทั้งหมด ตัดส่วนที่ไม่จำเป็นออกไป บางส่วนก็นำระบบอัตโนมัติเข้ามาช่วยให้กระบวนการรวดเร็วขึ้น
วางโครงสร้างแบบ Open Hybrid Cloud มุ่งสู่การเป็น ธนาคารแห่งอนาคต
นายแพทย์พลวรรธน์กล่าวว่า ธนาคารกรุงไทยมีความคิดริเริ่มในการเป็นธนาคารแห่งอนาคต (Future Banking) โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐในด้านต่างๆ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตและมีศักยภาพสูงขึ้น เพื่อตอบโจทย์นี้ทาง KTBCS จึงปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีให้มีความทันสมัยมากขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจาก Red Hat ในการปรับใช้ซอฟต์แวร์ Red Hat Enterprise Linux, Red Hat JBoss EAP, Red Hat OpenStack และ Red Hat OpenShift เพื่อปรับปรุงให้แพลตฟอร์มต่างๆ มีมาตรฐานและรองรับการใช้งานแอปพลิเคชั่นใหม่ๆ
“เราจำกัดความ Future Banking ว่าเป็นบริการธนาคารที่รวดเร็ว สะดวกสบาย ปลอดภัย ซึ่งเป็นเป้าหมายของทุกธนาคารที่ต้องส่งมอบบริการที่ดีที่สุดให้ลูกค้าอยู่แล้ว ตั้งแต่ทำ Digital Transformation ธนาคารกรุงไทยมีการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีเยอะมาก อาจเป็นหลักพันเท่าด้วยซ้ำ ดังนั้น การมีโครงสร้างพื้นฐานแบบ Open Hybrid Cloud จึงช่วยให้ธนาคารกรุงไทยมีความคล่องตัว สามารถขยับขยายอะไรได้รวดเร็วขึ้นและมีความยืดหยุ่นสูงขึ้นอย่างมาก”
นายแพทย์พลวรรธน์ยกตัวอย่างว่า ในระบบเดิม หากมีลูกค้าเข้ามาทำธุรกรรมกับธนาคารกรุงไทยจนเซิร์ฟเวอร์โหลด จะต้องมีการทำเรื่องของบประมาณมาซื้อเซิร์ฟเวอร์เพิ่ม โดยรองบประมาณ 45 วัน และต้องรอของมาส่งใช้เวลาติดตั้งอีก 45 วัน รวมแล้ว 90 วัน ซึ่งปัจจุบันไม่มีลูกค้ารายใดที่รอให้ธนาคารปรับปรุงระบบ 90 วันเพื่อทำธุรกรรมอย่างแน่นอน แต่การปรับเปลี่ยนมาใช้ Open Hybrid Cloud สามารถแก้ปัญหานี้ได้ทันที ต้องการขยายเพิ่ม ปรับลด ซึ่งทำให้แก้ไขปัญหาได้ทันเวลา ลูกค้าแทบไม่รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงเลย
นอกจากนี้ โครงสร้างพื้นฐานแบบ Open Hybrid Cloud ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของธนาคารได้หลายอย่าง โดยเฉพาะการที่ธนาคารไม่ต้องลงทุนซื้อเครื่องเซิร์ฟเวอร์ที่ผูกติดกับผู้ให้บริการรายใดรายหนึ่ง เพราะการเป็น Open Hybrid Cloud ทำให้ธนาคารสามารถรันแอปพลิเคชั่นบนเครื่องใดก็ได้ ทำให้สามารถกำหนดสเป๊กและราคาที่ต้องการได้ง่ายขึ้น
นายแพทย์พลวรรธน์กล่าวต่อว่า แอปพลิเคชั่นบางส่วนที่ออกสู่ตลาดไปตอนต้นปี 2564 ส่วนใหญ่จะใช้โครงสร้างพื้นฐานแบบ Open Hybrid Cloud โดยเฉพาะแอปพลิเคชั่นที่ธนาคารกรุงไทยพัฒนาขึ้นเพื่อสนองนโยบายภาครัฐ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า Open Hybrid Cloud สามารถรองรับธุรกรรมได้มหาศาล อาจถึงขั้นมากที่สุดในประเทศไทย ซึ่งจุดนี้ถือเป็นความท้าทายเช่นกัน เพราะธนาคารกรุงไทยตั้งเป้าว่าจะต้องรองรับทราฟฟิคขนาดใหญ่ให้ได้ และต้องลื่นไหลเหมือนกับที่ Facebook หรือ Google ทำได้ด้วย
“ไม่ว่าจะใช้โครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีแบบใด ในยุคที่ทุกธนาคารเร่งทำ Digital Transformation สิ่งสำคัญคือต้องตอบโจทย์ 4 ข้อคือ 1. มีความยืดหยุ่น 2. สามารถ Scale รองรับทราฟฟิคมหาศาลได้ 3. มีความเสถียร มั่นคง 4. พร้อมใช้งานตลอดเวลาและทันท่วงที หากตอบโจทย์ 4 อย่างนี้ได้ก็พร้อมเดินหน้าบนเส้นทางดิจิทัลได้”
ที่มา : https://www.moneyandbanking.co.th